บทบาทครูมอนเตสซอรี่

บทบาทครูมอนเตสซอรี่กับการสอนที่แตกต่างไปจากการสอนแบบดั้งเดิม

                     ภาพถ่ายโดย Thirdman

การสอนแบบมอนเตสซอรี่ต่างจากการสอนแบบดั้งเดิม ที่ครูมักยืนอยู่หน้าห้องเรียนและเป็นผู้ตัดสินใจว่าเด็กต้องเรียนอะไร จากนั้นจึงสอนบทเรียนตามนั้นให้กับเด็กทุกคน วิธีนี้เป็นแนวทางแบบบนลงล่าง​​

การสอนแบบมอนเตสซอรีจะเน้นที่ความสัมพันธ์ที่ปรับเปลี่ยนได้เสมอระหว่างเด็ก ครู และสภาพแวดล้อมในการเรียน เด็กจะเป็นผู้กำหนดการเรียนของตัวเอง โดยมีครูและสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยเสริม

อุปกรณ์การเรียนการสอนจะวางเรียงอยู่บนชั้นโดยเรียงจากง่ายไปยาก เด็กทุกคนสามารถเรียนรู้โดยใช้อุปกรณ์ได้ตามจังหวะที่ตัวเองพร้อมและสนใจในขณะนั้น ครูจะคอยสังเกตเด็กและเมื่อเห็นว่าเด็กใช้อุปกรณ์ได้จนชำนาญแล้ว ครูจึงนำเสนอบทเรียนและอุปกรณ์ประเภทใหม่

เมื่อดูแผนผังการสอนแบบมอนเตสซอรี่แล้ว จะเห็นว่าลูกศรชี้ไปทั้งสองทาง สภาพแวดล้อมกับตัวเด็กจะมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน สภาพแวดล้อมจะดึงดูดเด็กและเด็กได้เรียนจากอุปกรณ์ทั้งหลายที่มีอยู่ในสภาพแวดล้อม 

ครูกับสภาพแวดล้อมก็ส่งผลต่อกัน โดยครูเป็นผู้จัดเตรียมสภาพแวดล้อม คอยสังเกตและปรับสภาพแวดล้อมเพื่อตอบสนองความต้องการของเด็ก 

ครูกับเด็กจะมีความสัมพันธ์ที่ไม่อยู่นิ่งและอยู่บนพื้นฐานความเคารพซึ่งกันและกัน ครูคอยสังเกตเด็กและเข้าไปช่วยเท่าที่จำเป็น จากนั้นจึงก้าวออกมาให้เด็กได้ฝึกทักษะจนชำนาญด้วยตัวเอง

"จุดประสงค์ของการศึกษาแบบมอนเตสซอรีไม่ใช่การสอนเนื้อหาให้เด็กจำ แต่เป็นการปลูกฝังให้เด็กเกิดความกระหายใคร่รู้อย่างเป็นธรรมชาติ" 
- ดร.มอนเตสซอรี่ -


ก่อนเด็กจะมาโรงเรียน ครูมอนเตสซอรี่จะจัดเตรียมห้องเรียบร้อยแล้ว กิจกรรมหลากหลายหัวข้อวิชา วางเรียงอยู่บนชั้นวางที่เหมาะกับความสูงของเด็ก อุปกรณ์ต่างๆ ถูกจัดวางให้ต่อยอดไปยังกิจกรรม ที่ระดับสูงขึ้นต่อๆ ไป 

การสอนแบบมอนเตสซอรี่ครูจะคอยเฝ้าสังเกตเด็ก ดูว่าเด็กแต่ละคนเรียนรู้และฝึกฝนอยู่ และนำเสนอกิจกรรมในระดับต่อไปเมื่อเด็กพร้อม

การสอนแบบมอนเตสซอรี่ เราอาจเห็นเด็กคนหนึ่งฝึกทักษะคณิตศาสตร์อยู่ เด็กอีกคนทำกิจกรรมเกี่ยวกับภาษา และอีกสองคนอาจทำงานร่วมกันอยู่ หลักการคือเด็กสามารถเลือกได้เองว่าอยากทําอะไร

พ่อแม่อาจกังวลว่าหากเด็กมีอิสระเพียงนี้ เด็กอาจเลี่ยงไม่ยอมทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ หากเป็นเช่นนี้จริง ครูมอนเตสซอรีจะสังเกตว่าเด็กคนนั้นยังไม่พร้อมหรือไม่ และอาจนำเสนอกิจกรรมที่เด็กสะดวกและสนใจทำ เป็นการแสดงให้เด็กเห็นว่ามีวิธีการหลายวิธีที่จะทำตามสิ่งที่ตนสนใจได้​


การสอนแบบมอนเตสซอรี่ ครูไม่ค่อยต้องเสียเวลาไปกับการ “ควบคุมฝูงชน” เช่น เรียกให้เด็กๆมานั่งฟังที่ครูสอน หรือไปห้องน้ำเป็นกลุ่ม ครูจึงมีเวลาเอาใจใส่การสังเกตและช่วยเหลือเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ

เนื่องจากในห้องเรียนมีเด็กหลายกลุ่มอายุอยู่ร่วมกันเด็กโตสามารถช่วยเด็กเล็กได้ เวลาที่เด็กโตอธิบายอะไรให้น้องฟัง นั่นถือเป็นการสรุปการเรียนรู้ของตัวเองไปในตัว เด็กเล็กก็เรียนรู้จากการสังเกตพี่ๆ

หลักการเหล่านี้ไม่ได้ใช้ได้ในห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังแนะแนวทางที่พ่อแม่ควรนำไปใช้กับลูกที่บ้านด้วย เราส่งเสริมให้ลูกค้นพบเรื่องต่างๆด้วยตัวเองได้ ให้อิสระและขอบเขตได้ และสามารถเอื้อให้ลูกทำสิ่งที่มุ่งหวังได้สำเร็จ โดยการจัดบ้านให้ลูกสามารถมีส่วนในกิจวัตรประจำวันของครอบครัวได้


📖บทความอื่นๆของ Daddy Montessori

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Sensitive Periods ช่วงรับรู้ไวของเด็ก ที่ผู้ใหญ่ควรส่งเสริม

การสอนแบบมอนเตสซอรี่

ลูกติดเล่นไม่ยอมเลิก ทำอย่างไรดี?