เตรียมพร้อมก่อนเข้าอนุบาล.. เมื่อลูกต้องแยกจากพ่อแม่

เมื่อลูกต้องไปโรงเรียนอนุบาล นั่นจะเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ อีกด้านหนึ่งก็เป็นโอกาสครั้งสำคัญเช่นกัน 

                  ภาพถ่ายโดย Thirdman

เมื่อลูกวัย 2-3 ขวบ เขาเริ่มรู้เรื่องอะไรต่อมิอะไรขึ้นมาบ้างแล้ว คุณพ่อคุณแม่จึงไม่อาจพูดเฉไฉหรือกลบเกลื่อนได้ ขอให้เผชิญหน้ากับลูกตรงๆ แล้วเตรียมพร้อมก่อนเข้าอนุบาลให้ลูกมีทักษะเหล่านี้

1. ลูกแยกจากพ่อแม่
2. ฝึกลูกให้เข้าห้องน้ำเอง
3. สวมเสื้อผ้าเอง
4. สวมรองเท้าเอง
5. กินข้าวเอง

แน่นอนว่าถ้าทำเรื่องพวกนี้ไม่เป็นแล้วลูกจะไปโรงเรียนอนุบาลไม่ได้ แต่โรงเรียนอนุบาลคือจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตในสังคมและกลุ่มก้อน ถ้าลูกเราช่วยเหลือตัวเองในเรื่องเหล่านี้ได้ เขาย่อมออกสตาร์ตได้อย่างสนุกสนานแน่

ลูกแยกจากพ่อแม่

ไม่มีเด็กคนไหนไม่ร้องไห้ตอนแยกจากแม่ครั้งแรก แม้แต่ตอนอยู่ในบ้าน ถ้าแม่หายไปจากสายตาแค่ชั่วขณะ เด็กส่วนใหญ่ก็ร้องไห้แล้ว เพราะเด็กวัยนี้คิดว่าถ้ามองไม่เห็นแม่ แม่จะหายไปไม่กลับมาอีก

ยกตัวอย่างเวลาเล่น Object Permanence​ Box โดยหย่อนลูกบอลทิ้งลงไปในรูกล่อง ลูกบอลจะกลิ้งออกจากกล่องและเข้าไปในถาดที่แนบมา เด็กก็จะเห็นลูกบอลปรากฏขึ้นอีกครั้ง และทำซ้ำอยู่หลายครั้งให้แน่ใจว่าลูกบอลไม่ได้หายไปเพื่อเรียนรู้เรื่อง Object Permanence (การคงอยู่ของสิ่งต่างๆ)

ลูกจำเป็นต้องเรียนรู้จากการเกิดขึ้นซ้ำๆ เหมือนเช่นเรื่องนี้ ว่าต่อให้แยกกับแม่ ยังไงแม่ต้องกลับมารับแน่นอน เราต้องออกก้าวและทำซ้ำหลายๆครั้ง แล้วลูกก็จะแยกห่างจากพ่อแม่ได้


1. ก่อนจะหายหน้าไปไหน ต้องบอกลูกอย่างชัดเจน เช่น “แม่จะไปซื้อของ รอแม่ก่อนนะ” ต้องระวังให้ดีว่าถ้าหายไปโดยไม่บอกกล่าว เด็กจะต้องเผชิญกับความรู้สึกหวาดกลัว แล้วจะทำให้พ่อแม่แยกห่างจากลูกไม่สําเร็จ

2. ฝ่ายที่รับฝากลูกไว้ก็ต้องบอกลูกอย่างชัดเจนว่า “แม่ของหนูไปซื้อของ ยังไงต้องกลับมาแน่ๆ เรามารอแม่ด้วยกันนะ”

3. ช่วงแรกให้แยกกันแค่ช่วงสั้นๆประมาณครึ่งชั่วโมงก่อน พอลูกคุ้นชินค่อยเพิ่มเป็น 1 ชั่วโมง ถ้าแม่กลับมาในเวลาไม่นานแบบนี้ เขาจะได้พบเจอความสำเร็จซ้ำๆ ว่าต่อให้แม่หายไป ยังไงแม่ต้องกลับมาแน่นอน


สิ่งสำคัญที่สุดคือพ่อแม่ต้องทำใจแยกจากลูกให้ได้

“ทัศนคติของพ่อแม่” จะเป็นตัวสร้างความกังวลมากเกินความจำเป็นเมื่อต้องแยกจากลูก พ่อแม่จะเป็นฝ่ายเจ็บปวดกว่า หลายคนจึงแสดงออกอย่างเจ็บปวดเกินไป

เมื่อพ่อแม่แสดงออกอย่างเกินเหตุราวกับต้องแยกจากลูกชั่วชีวิต นั่นกลับจะทำให้ลูกรู้สึกกังวล และจิตใต้สำนึกของความเป็นพ่อแม่ที่ว่า “เด็กคนนี้ จะอยู่ยังไงถ้าไม่มีฉัน” นั่นเองเป็นตัวการของการแสดงออกแบบนั้น พอเห็นลูกร้องไห้ไล่ตามตัวเองมา ก็จะเริ่มทบทวนขึ้นมาอีกว่า “ถ้าเด็กคนนี้ไม่มีเรา เขาคงอยู่ไม่ได้จริงๆด้วย”


หน้าที่ของพ่อแม่คือทำให้ลูกพึ่งพาตัวเองได้ในสถานการณ์เช่นนี้ ขอให้ใจเย็นและบอกกล่าวอย่างจริงใจในฐานะที่เขาเป็นคนคนหนึ่งว่า “แม่ไปซื้อของ หนูรอก่อนนะ หนูช่วยแม่ได้มากเลย” และพอกลับมาแล้ว ให้บอกตามความจริงว่า “ขอบคุณมากนะ เพราะหนูรอแม่ แม่เลยได้ไปซื้อของ"

ไม่ช้าก็เร็วลูกต้องแยกจากพ่อแม่ ประสบการณ์นี้จะเป็นบ่อเกิดของความรู้สึกเห็นคุณค่าของตัวเอง ทำให้ลูกรู้สึกว่า “เราอยู่ได้ด้วยตัวเองนี่นา” 

เพราะฉะนั้นขอให้คุณพ่อคุณแม่คอยช่วยเขาอย่างตั้งใจและสุดความสามารถ เพื่อให้เขาข้ามผ่านบททดสอบนี้ไปให้ได้

📖บทความอื่นๆของ Daddy Montessori


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Sensitive Periods ช่วงรับรู้ไวของเด็ก ที่ผู้ใหญ่ควรส่งเสริม

การสอนแบบมอนเตสซอรี่

ลูกติดเล่นไม่ยอมเลิก ทำอย่างไรดี?